นายกฯเล็งทบทวนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยว่า หลังจากที่ใช้ระบบแอดมิชชั่นมา หลายมหาวิทยาลัย หลายคณะ พบว่ามีปัญหาจริงๆในเรื่องของเด็กที่เข้าไปแล้ว ความรู้ทักษะไม่ค่อยสอดคล้องกับคณะที่เข้าไป ตรงนี้จะเกิดปัญหาความสูญเสีย นอกจากนี้แนวโน้มขณะนี้มหาวิทยาลัยคณะต่างๆจะใช้ระบบนี้น้อยลง และใช้ระบบรับตรงมากขึ้น จึงจะเป็นการไปเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองมากขึ้น แค่เรื่องการชำระเงิน การสมัคร ก็มีการร้องเรียนเข้ามามาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดังนั้นมันถึงเวลาที่ต้องทบทวนกัน เพียงแต่ว่าเมื่อทบทวนแล้วเราจะใช้ทันทีทันใดคงไม่ได้ เด็กเขารู้กติกาล่วงหน้าตั้งแต่ม.4 เราจะทำอะไรก็ต้องคิดเผื่อว่าเด็กที่รู้กติกามาอย่างหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องการให้เปลี่ยนกลางคัน ดังนั้นในที่ประชุมจึงมีการแลกเปลี่ยนกัน และทางอธิการบดีก็เห็นด้วยว่าจะต้องทำเรื่องนี้ให้เร็ว เป้าหมายหลักคือระบบคัดเลือกจะต้องได้คุณภาพ ทักษะที่สอดคล้องกับสิ่งที่เข้าไปเรียน ลดภาระผู้ปกครอง และสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เราต้องย้ำตรงนี้ เพราะว่าบางทีเราอยากจะทำอะไรในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน อาจารย์ ก็มุ่งเป้าหมายว่าทำยังไงให้เด็กสอบเข้าได้ เช่น ทุกคนบอกว่าอยากให้เด็กคิดเป็น คิดเก่ง วิเคราะห์ได้ แต่ปรากฏว่าข้อสอบเน้นเรื่องความจำ สุดท้ายมันไม่มีประโยชน์อะไรที่ไปเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพราะทุกคนก็ใจจดใจจ่อมุ่งที่จะสอบเข้าให้ได้อยู่ดี จนต้องไปเรียนพิเศษ เป็นต้น

ส่วนจะต้องมีการทบทวนทั้งระบบหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการจะทำให้ได้ภายในกลางปีนี้ ถ้ามาตรฐานโรงเรียนยังเทียบเคียงกันไม่ได้ การใช้เกรดเฉลี่ยก็ควรใช้ในลักษณะของการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นมากกว่านำมา เปรียบเทียบกัน ข้อสอบทั้งที่เป็นวิชาเฉพาะ วิชาพื้นฐานก็ต้องเน้นเนื้อหาน้อยลง เน้นเรื่องกระบวนความคิดมากขึ้น และถ้ามีระบบการรับตรงควรเน้นการใช้ข้อสอบกลางให้มากที่สุด เพื่อลดภาระการสอบของเด็ก นี่คือตัวอย่างที่ตนเสนอความคิดไป จะมีการดูรายละเอียดอีกครั้ง

ศธ.ลั่น!พบผิดพร้อมคืนสิทธิ์นร.พลาดสอบเอเน็ตทันที

วันนี้ (9 ก.พ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าว ถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนที่มีปัญหาการสมัครสอบการทดสอบทางการ ศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ที่ได้สมัครสอบเอเน็ตแต่ไม่ได้ชำระเงิน โดยระบุว่า ยอดรวมล่าสุดขณะนี้ทั้งสิ้น 76 คน และช่วงเช้าวันนี้มี 9 คน โดยเหตุผลที่ระบุแตกต่างกันไป ในส่วนของกรณีที่มีปัญหาเรื่องการอ่านแถบบาร์โค้ดจำนวน 3 คน ซึ่งทั้ง 3 คน ให้ข้อมูลว่า ได้จ่ายที่ไปรษณีย์ไทย และแถบที่ไม่อ่าน ซึ่งเมื่อได้รับเรื่อง สกอ.ประสานไปไปรษณีย์ทุกแห่งแล้วว่า หากมีปัญหานี้ให้แนะนำให้ไปทำการที่ธนาคารแทน


รม ช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในขณะนี้เท่าที่ตรวจสอบระบบด้วยตนเองพบว่า ยังไม่มีข้อผิดพลาดใดๆของระบบ จะมีเพียงตามที่ร้องเรียนเป็นส่วนใหญ่ คือ ใบ ระเบียบการสมัครออนไลน์หน้าสุดท้ายไม่ระบุวันสิ้นสุดการจ่ายเงิน แต่ตนเห็นว่า ระบบการเขียนใบสมัครออนไลน์นั้น กว่าจะถึงหน้าสุดท้ายยืนยันว่า มีระบุวันสิ้นสุดการรับชำระแน่นอน และยืนยันว่าเอกสารออนไลน์ชุดนี้ได้นำขึ้นระบบออนไลน์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 แล้ว


รม ช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด คือ ต้องจัดการเยียวยาเด็กที่สมัครแล้วไม่ได้ชำระเงินกลุ่มนี้อย่างไรให้ไม่ กระทบกับเด็กอีก 1.9 แสนคน เป็นโจทย์ที่จะทำอย่างไรให้เด็กที่หากได้รับการคืนสิทธิ์จะสามารถเข้าสอบพร้อมกับเด็กอีก 1.9 แสนคน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส ไม่เหลื่อมล้ำ และเด็กที่ชำระเงินไปแล้ว ทางระบบออนไลน์กำลังจัดทำผังที่นั่งสอบในสนามสอบ ซึ่งจะออนไลน์พร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 14 กุมภาพันธ์พร้อมกันทั่วประเทศ และวันสอบก็ถูกกำหนดไว้แล้วเช่นกันคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์


นอก จากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ยังกล่าวไม่เห็นด้วย หากเปิดโอกาสให้เด็กที่มาร้องเรียนจำนวนหนึ่ง สมัครสอบโดยที่ยังไม่เคยสมัครสอบมาก่อน เนื่องจากหากจะให้สิทธิ์เด็กกลุ่มนี้ต้องรื้อระบบใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการชำระเงินสามารถเดินทางมาร้องเรียนได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนได้ถึงวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ หากอาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัดให้เดินทางไปร้องเรียนได้ที่โรงเรียนประจำจังหวัดเริ่มวันพรุ่งนี้ (10 ก.พ.) เวลา 09.00-16.00 น.

ด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่า การผิดพลาดเรื่องการถูกตัดสิทธิ์เข้าสอบเอเน็ต ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กนักเรียน จนทำให้เกิดโรคเครียดได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงความผิดพลาดในการเข้าสอบเอเน็ต ไม่ใช่ความผิดพลาดในเรื่องผลสอบ ทั้งนี้เด็กๆ ไม่ควรเครียดกับเรื่องนี้จนเกินไป เพราะขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ หากพบว่า ระบบเกิดความผิดพลาด ก็จะต้องมีการแก้ระบบใหม่ เพื่อให้เอื้อต่อการทดสอบเอเน็ตของนักเรียนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรที่จะดูแลสุขภาพจิตของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่อไปในระยะยาว

ส่วน ผลกระทบเรื่องการเรียนในชั้นเรียนนั้น รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ แต่ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาทางจิตใจเท่านั้น ไม่ใช่เกิดความผิดปกติจนทำให้เป็นโรคเครียด และไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตแต่อย่างใด