เข็ดขยาดลัทธิเอาอย่างกลุ่มผู้ชุมนุม

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากได้ร้องเรียนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาแรงงานประท้วงผู้ประกอบการ ขอเงินโบนัสเพิ่มโดยวิธีการปิดโรงงาน ห้ามผู้บริหารเข้ามาทำงาน หรือประกาศหยุดงานแล้วห้ามเอาผิด เนื่องจากหลายรายเริ่มตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต่างชาติหวั่นว่าจะเป็นแฟชั่นที่ลุกลามทั่วประเทศ จนรายใหม่ไม่กล้าเข้ามา รัฐบาลจึงควรใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์สูงสุดในการลดความวุ่นวายที่เกิดขึ้น “ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ประสบปัญหาหนักสุด กรณีที่พนักงานประท้วงขอเพิ่มโบนัสหรือขึ้นเงินเดือน โดยเฉพาะทุนสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งการปิดโรงงานหรือปิดถนนที่เกิดขึ้น นักลงทุนมองว่าตำรวจไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ จนล่าสุดเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ต้องขอให้ นายกรัฐมนตรีไทยเร่งแก้ปัญหาตรงนี้ ก่อนที่จะบานปลายไปทั่วประเทศแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับปากจะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน”

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าการประท้วงปิดโรงงาน ด้วยการเพิ่มโบนัสไม่ควรเกิดขึ้น หากเห็นว่าบริษัทมีกำไรมากและพนักงานไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ควรใช้ช่องทางกฎหมายในการฟ้องร้อง ขณะที่ภาครัฐก็ควรใช้กฎหมายดำเนินคดีกับพนักงานที่ทำผิดกฎหมายด้วย

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน สอท. กล่าวว่า เตรียมนำภาคเอกชนมาหารือกับ รมว.แรงงานในการแก้ปัญหาแรงงานประท้วงเพื่อขอโบนัส เพราะการปิดโรงงานหรือปิดถนน กดดันให้ผู้บริหารอนุมัติตามข้อเรียกร้อง จะทำให้ต่างชาติยิ่งตื่นตระหนกกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเบื้องต้นจะหาแนวทางแบบประนีประนอม ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ลุกลามและรุนแรง ความเชื่อมั่นก็จะลดลง “สหภาพแรงงานของบางบริษัทเข้มแข็งเกินไป ใช้วิธีการประท้วงที่รุนแรง มีผลกระทบต่อบริษัท เช่น การหยุดงาน แต่ที่ สอท.กลัวคือต่อไปเม็ดเงินจากต่างประเทศจะเข้ามาในไทยยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานตามมา”

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สอท. กล่าวว่า ปัญหาว่างงานในปีหน้าจะหนักมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ 1 ใน 10 ของไทย โดยไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าจะเกิดการว่างงานในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมรวม 525,000 คน ไตรมาส 1 ปี 2552 จำนวนคนว่างงานจะเพิ่มเป็น 630,000 คน และไตรมาส 2 ปี 2552 จะเพิ่มเป็น 900,000 คน ทั้งนี้ จากการสุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ สอท.พบว่า 96.4% ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัว แบ่งเป็นได้รับผลกระทบที่รุนแรง 2.7% กระทบปานกลาง 53.3% และกระทบน้อยมี 4.4% ขณะเดียวกันพบว่าผู้ประกอบการจะเลิกจ้างงาน 12.4% ยังไม่แน่ใจว่าเลิกจ้างหรือไม่ 31.6% และไม่มีนโยบายเลิกจ้าง 56%.

0 ความคิดเห็น: