ชงงบฯแสนล้านเข้าครม. ถึงมือรากหญ้าใน9เดือน


วันนี้ (12 พ.ย.) นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาท ว่า อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดลำดับความสำคัญของโครงการ แต่ละโครงการให้ชัดเจน เชื่อว่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดและนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในต้นเดือน ม.ค.ปีหน้า (2552) ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม กรอบโครงการยังดำเนินการตามกรอบเดิมทั้ง 10 โครงการ ที่เคยผ่านการพิจารณาของ ครม. แล้ว แต่มีการปรับ ปรุงบ้างให้เหมาะสม เพราะมีโครงการด้านการท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข ด้านศึกษาธิการ ที่เสนอเข้ามาใหม่ แต่ยืนยันว่าทุกโครงการจะต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และเป็นไปอย่างโปร่งใส เนื่องจากต้องนำไปชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร

" เงินงบประมาณทุกกิจกรรมจะต้องถึงมือประชาชน ภายใน 9 เดือน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดมากเกินไป" นายโอฬาร ย้ำ ส่วนการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับข้าราชการอีกร้อยละ 6 นั้น ยังไม่มีข้อสรุป เพราะยังอยู่ระหว่างการตีกรอบของโครงการและทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการ โดยในวันนี้ได้หารือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) จะหารือร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะหารือเป็นรายกระทรวงเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจนต่อไป

วัน เดียวกัน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อภิปรายเรื่อง "ควรทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยมีผลกระทบน้อยที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วิกฤติการเงินโลกยังไม่จบ ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2552 จะเกิดระเบิดลูกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมจากปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในตรา สารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง (Credit Default Swap) หรือ CDS ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะทำให้สถาบันการเงินที่ซื้อ CDS มี ปัญหาล้มเป็นลูกโซ่ กระทบภาวะเศรษฐกิจโลกยิ่งชะลอตัวลงไปอีก ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศติดลบ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรี ยมพร้อมเพื่อรับมือวิกฤติการเงินครั้งใหม่ที่รุนแรง ด้วยการเลิกทะเลาะกัน เร่งการลงทุนภาครัฐ เน้นการลงทุนในโครงการขนาดเล็กแทนโครงการขนาดใหญ่ และผ่านโครงการของรัฐวิสาหกิจมากขึ้น ดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) รับมือปัญหาการว่างงาน

ทาง ด้านนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่รัฐบาลก็ต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และดำเนินนโยบายที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชนโดยเร็ว เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้อยู่รอดให้ได้ เพื่อให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 เติบโตร้อยละ 3-4 เพราะหากอัตราการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศไทย บัณฑิตจบใหม่จะตกงาน นักธุรกิจจะไม่ขยายการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือดูแลคนตกงานและดูแลผู้มีรายได้น้อย อย่าง ไรก็ตามยังคงเชื่อว่า ปัญหาการว่างงานจะไม่รุนแรงเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่อัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ10 มีคนว่างงานถึง 1.4 ล้านคน

นางอัจนา กล่าวว่า สภาพคล่องในระบบการเงินไม่ได้มีปัญหา โดยยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ถึง 1.1 ล้านล้านบาท แต่ สาเหตุที่สภาพคล่องลดลง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการที่ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อมากเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจขยาย กิจการได้ แต่ก็ยอมรับว่าในอนาคตธนาคารพาณิชย์จะ เน้นปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าเอสเอ็มอี และเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท. จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น พยายามยืดหยุ่นกฎระเบียบไม่ให้ตึงตัวเกินไป และต้องไม่ทำให้เกิดภาวะการขาดความเชื่อมั่น เพื่อที่จะหนุนให้เศรษฐกิจประคองตัวได้

ขณะที่นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการ และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีราคาหุ้นไทยคงจะไม่ปรับลดลงไปถึงระดับ 207 จุด เหมือนกับปี 2540 เพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมาก และเชื่อว่าดัชนีราคาหุ้นที่ระดับ 380 จุด เป็นระดับที่ต่ำสุดแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าเป็นห่วงปัญหาวิกฤติการเงินโลกที่ทำให้เกิดการเทขายหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา และปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังยืดเยื้อ ซึ่ง อยากให้ยุติโดยเร็ว เพราะไม่ต้องการให้ดัชนีหุ้นไทยดิ่งลงไปอีก รวมทั้งอยากเห็นการทำงานที่ประสานกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

0 ความคิดเห็น: